
โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder – DID หรือ Multiple Personality Disorder – MPD) คืออาการทางจิตที่ภาวะความทรงจำ การรับรู้ตัวตน หายไปชั่วขณะ โดยผู้ป่วยจะมีบุคลิกภาพแตกต่างกันตั้งแต่ 2 บุคลิกขึ้นไปแล้วดึงบุคลิกเหล่านั้นออกมาสลับเปลี่ยนกันมีบทบาทภายนอก ซึ่งบุคลิกที่เกิดขึ้นนั้นมักจะแตกต่างกัน เช่น เพศ อายุ รูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย แม้กระทั่งบางครั้งก็สามารถทำเรื่องราวแปลกประหลาดจนไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากคนคนเดียวกัน โดยผู้ป่วยอาจจะจำลักษณะข้อมูลสำคัญของอีกบุคลิกหนึ่งได้หรือบางครั้งก็ไม่ได้
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกมักประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางจิตใจและร่างกายในวัยเด็ก ทำให้ชีวิตมีแต่ความเศร้า ความหวาดระแวงและความหวาดกลัว จนต้องสร้างตัวตนคนใหม่ออกมารับมือกับสถานการณ์ที่ตัวเองรับไม่ไหว
อาการของโรคหลายบุคลิกต้องอาศัยคนรอบข้างคอยสังเกต หรือคุณอาจลองสำรวจตัวเองได้ง่ายๆ ว่า ในหนึ่งวันคุณจำเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณทั้งหมดได้หรือไม่ เคยตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่ไม่รู้จักหรือไม่ หรือมีคนรอบข้างเคยบอกว่าบางครั้งคุณมีนิสัยเปลี่ยนไป…แต่คุณกลับจำอะไรไม่ได้
หากเป็นเช่นนั้นการพบจิตแพทย์คือคำตอบของคุณ
แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะโรคหลายบุคลิกสามารถรักษาได้ ทุกตัวตนที่เกิดขึ้นสามารถหลอมรวมกลายเป็นตัวตนเดียวได้ เช่นเดียวกับเรื่องราวของผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก 5 คนต่อไปนี้
พวกเขาอาจเจ็บปวดจากโรคแต่บางคนก็สามารถมีความสุขในชีวิตได้ บางคนก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์และหนังสือเรื่องดัง บางคนอาจรอดจากการถูกจำคุกเพียงเพราะนั่นไม่ใช่ตัวตนของเขาเป็นผู้ลงมือ….
By Henri Bourru & Prosper-Ferdinand Burot – Variations de la personnalité.,
หลุยส์ วิเวต์ (Louis Vivet )
ตัวตนที่พบ : 10
หลุยส์ วิเวต์ ชายหนุ่มคนแรกที่ได้รับการระบุว่าเป็นโรคหลายบุคลิก สาเหตุเกิดจากความเจ็บปวดทางจิตใจและร่างกายในวัยเด็กจากการเลี้ยงดูโดยแม่ที่ทำอาชีพโสเภณีในกรุงปารีส(Paris) ประเทศฝรั่งเศส เขาอาศัยอยู่ที่สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 8 ขวบหลังจากที่ก่ออาชญากรรมเป็นครั้งแรก โดยอาศัยที่นี่เป็นบ้านจนกระทั่งอายุ 18
เมื่อสมัยที่เขาอายุ 17 ปี ในขณะที่เริ่มงานในไร่องุ่น งูพิษตัวหนึ่งได้เข้ารัดแขนซ้ายเขา แม้มันจะไม่ได้กัด แต่เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้กับวิเวต์จนเขาหมดสติไป และเมื่อตื่นขึ้นมา ร่างกายตั้งแต่ส่วนสะโพกลงไปกลับกลายเป็นอัมพาต
แต่หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปีกว่าๆ เขาก็กลับมาเดินได้อีกครั้ง
สิ่งที่น่าแปลกใจมากกว่าการเดินได้ นั่นคือ การปรากฏบุคลิกภาพอีกหนึ่งตัวตนของวิเวต์หลังจากเจอเหตุการณ์สยองครั้งนั้น
หลังจากเป็นอัมพาต เขาอาศัยเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างตัดเสื้อในโรงพยาบาลบำบัดทางจิต แต่เมื่อลุกขึ้นเดินได้วิเวต์กลับจำใครในโรงพยาบาลไม่ได้ และยังมีบุคลิกที่เปลี่ยนไป จากคนสุภาพ เขากลายเป็นคนก้าวร้าว แต่เขาก็ได้รับการรักษาตามอาการโดยที่ยังไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลายบุคลิกจนกระทั่งหายดีและออกจากโรงพยาบาลได้
หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลบำบัดทางจิตอีกครั้งด้วยอาการป่วย แต่ครั้งนี้วิเวต์สร้างความประหลาดใจให้กับเหล่าหมอและพยาบาลเพราะบางครั้งวิเวต์ผู้แสนดีก็เป็นอัมพาต และบางครั้งวิเวต์ก็เดินได้เหมือนคนปกติแต่กลายเป็นคนขี้โมโห และเขาบอกกับหมอว่าเขาจำช่วงเวลาที่เป็นอัมพาตไม่ได้เลยสักนิด
หลังจากหลุยส์ วิเวต์ ได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการของโรคหลายบุคลิก หมอก็พบว่า เขามีบุคลิกที่แตกต่างกันถึง 10 ตัวตน เช่น ชายหนุ่มผู้ใจดีในสถานะคนอัมพาตด้านล่าง ชายหนุ่มขี้โมโหในช่วงเวลาที่เดินได้ บางบุคลิกขี้เกียจ บางบุคลิกขยันขันแข็ง และมีบางบุคลิกที่ไม่ได้เป็นอัมพาตด้านล่างแต่เป็นอัมพาตที่ซีกซ้ายของร่างกายด้วย
เรื่องราวของหลุยส์ วิเวต์ สิ้นสุดการบันทึกเป็นหลักฐานทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 1886 โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด แต่เรื่องราวของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับ โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน (Robert Louis Stevenson) สร้างสรรค์วรรณกรรมคลาสสิค เรื่อง STRANGE CASE OF DR. JEKYLL AND MR. HYDE “เรื่องวิปลาสของด็อกเตอร์จีคอลกับมิสเตอร์ไฮด์” เป็นอีกหนึ่งตำนานที่ทำให้โลกได้รู้จักคำว่าโรคหลายบุคลิก
ลูแรนซี่ เวนนัม (Lurancy Vennum)
ตัวตนที่พบ : ระบุจำนวนไม่ได้
ลูแรนซี่ เวนนัม หญิงสาวจากเมืองวัทเซกา (Watsseka) รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเธอเป็นโรคหลายบุคลิกจริงหรือแค่ตบตาคนทั้งโลก
เวนนัมมีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า Watseka Wonder (วัทเซกา วันเดอร์ – ความสงสัยของชาวเมืองวัทเซกา)
เธอมักจะเป็นลมชักและหมดสติอยู่บ่อยๆ นั่นดูเป็นเรื่องปกติของหญิงสาวร่างกายอ่อนแอแต่สิ่งที่ทำให้ชาวเมืองสงสัยนั่นคือ เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วเธอจะพูดเสมอว่า เธอไปสวรรค์มา ไปเจอนางฟ้า และได้เจอกับลูกพี่ลูกน้องที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย บางครั้งก็พูดเรื่องราวแปลกๆ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายในสำเนียงและน้ำเสียงที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อรู้สึกตัวเธอกลับจำไม่ได้ว่าพูดอะไรออกไป
จนเมื่อครอบครัวต้องการรักษาอย่างจริงจัง และกำลังจะส่งเธอไปโรงพยาบาลบำบัดจิต อซา บี. รอฟฟ์ (Asa B. Roff) เพื่อนบ้านของเธอที่เชื่อเรื่องผีสางกลับบอกให้โทรหา อี. วินเชสเตอร์ สตีเวนส์ (E. Winchester Stevens) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูติผีแทน
รอฟฟ์บอกว่า แมรี่ รอฟฟ์ (Mary Roff) ลูกสาวของเขาก็เคยมีอาการแบบเดียวกับเวนนัม และเมื่อเขาส่งเธอไปบำบัดที่โรงพยาบาล เธอก็เสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น และเขาเชื่อว่าวิญญาณของลูกสาวยังวนเวียนอยู่ที่บ้านและเวนนัมคือกุญแจเพื่อหาคำตอบนั้น
สตีเวนส์เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเวนนัมคือการถูกผีสิง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยนำเสียง ท่าทางแปลกๆ และเรื่องราวที่ตัวเวนนัมไม่เคยรู้มาก่อน ล้วนเกิดจากภูตผีหลายตัวสลับวนเวียนมาสิงเธอ
จนกระทั่งสิ่งที่ครอบครัวรอฟฟ์รอคอยก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งเวนนัมกลายเป็นแมรี่ รอฟฟ์
ครอบครัวรอฟฟ์รับเธอมาอาศัยอยู่ที่บ้านด้วยกันนานกว่า 3 เดือน โดยช่วงเวลานั้นเวนนัมสามารถเล่าเรื่องราวของแม่รี่ในวัยเด็กได้อย่างถูกต้อง และจดจำข้าวของเครื่องใช้ในบ้านได้อย่างแม่นยำ ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาที่แมรี่เสียชีวิตนั้น เวนนัมอายุได้เพียง 1 ขวบเท่านั้น แต่สิ่งที่นักจิตแพทย์พบคือ เวนนัมจะถูกผีแมรี่ รอฟฟ์สิงก็ต่อเมื่ออยู่ต่อหน้าครอบครัวรอฟฟ์เท่านั้น
หลังจากเหตุการณ์น่าประหลาดใจนี้เวนนัมได้แต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องอาการผีสิงของเธอ แล้วแมรี่ก็ไม่เคยกลับมาหาเธออีก จนเมื่อเธอย้ายไปจากเมืองก็ไม่มีใครเคยได้ยินข่าวอีกเลยว่าเธอถูกผีสิง
แม้เธอจากไปแล้ว แต่ความสงสัยของชาวเมืองวัทเซกาและคนทั้งโลกก็ยังคงอยู่
เป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
คริส คอสท์เนอร์ ไซส์มอร์ (Chris Costner Sizemore)
ตัวตนที่พบ : 22
คริส คอสท์เนอร์ ไซส์มอร์ จากเมืองเอดเกอร์ฟิลด์ (Edgefield) รัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอก็เป็นหนึ่งคนที่ประสบปัญหาภาวะบุคลิกแตกแยก แต่แตกต่างจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพราะในวัยเด็กเธอไม่เคยถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจมาก่อน เรียกได้ว่าเป็นเด็กหญิงที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุขที่สุดในเมืองเลยก็ว่าได้
แต่เมื่อปี ค.ศ. 1929 เธอก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าจากเหตุการณ์สะเทือนใจสุดเศร้าของครอบครัวและคนรู้จัก หลังจากนั้นไซส์มอร์ก็ให้เด็กหญิงผมแดงคนหนึ่งออกโรงแทนในช่วงเวลาเจ็บปวด เมื่อโตขึ้นเธอก็มักมีอาการปวดหัวรุนแรงจนหมดสติ หรือบางครั้งก็มีพฤติแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ และบ่อยครั้งที่มักจะหูแว่วได้ยินเสียงคนพูดด้วยทั้งๆ ที่อยู่คนเดียว
เมื่ออายุ 20 ปี หลังจากที่คลอดลูกสาวคนแรกชื่อ แทฟฟี่ (Taffy) เธอเริ่มเข้ารับการบำบัดทางจิต โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอต้องเข้าพบจิตแพทย์คือวันที่ อีฟ แบล็ก (Eve Black) ตัวตนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นมาบีบคอลูกสาวตัวน้อยของเธอ แต่โชคดีที่ อีฟ ไวท์ (Eve White) อีกตัวตนหนึ่งได้ออกโรงมาช่วยลูกสาวเธอไว้ทัน
หลังจากนั้นเธอก็เข้ารับการบำบัดเป็นเวลากว่า 25 ปี แตกบุคลลิกออกมาได้ถึง 22 ตัวตนด้วยกัน และพบแพทย์มากว่า 8 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณหมอ โทนี่ ไซทอส (Dr. Tony Tsitos) ได้รวมบุคลิกของเธอทั้งหมดจนกลายเป็นคนคนเดียวได้ในที่สุด
คริส คอส์ทเนอร์ ไซส์มอร์ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2016
โคเบตต์ เอช. ทิกเพ็น (Corbett H. Thigpen) จิตแพทย์คนแรกของเธอได้เขียนหนังสือถ่ายทอดเรื่องราวของเธอในช่วงการบำบัด ในชื่อว่า เดอะ ทรี เฟสเซ็ส ออฟ อีฟ (The Three Faces of Eve) และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1957 เล่าเรื่องราวการต่อสู้ทางจิตใจของใบหน้าอีฟ แบล็กและอีฟ ไวท์ และอีกหนึ่งใบหน้า คือ เจน ผู้ที่กุมความลับของอีฟทั้ง 2 ซึ่งเจนในบทภาพยนต์ก็คือตัวตนที่ 3 ของไซส์มอร์ที่หมอทิกเพ็นเป็นผู้ค้นพบเช่นเดียวกับตัวของอีฟทั้ง 2
เชอร์ลี เมสัน (Shirley Mason)
ตัวตนที่พบ : 16
เชอร์ลี เมสัน หลายคนอาจเรียกเธอว่า ซีบิล อิสซาเบล ดอร์เซ็ตต์ (Sybil Isabel Dorsett ) นั่นเพราะเมสันเป็นต้นกำเนิดของภาพยนตร์ มินิซีรีส์โทรทัศน์ และหนังสือชื่อดัง ซีบิล (Sybil) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวที่เป็นโรคหลายบุคลิก โดยจิตแพทย์ระบุว่าเมสันมีตัวตนที่แตกต่างกันถึง 16 ตัวตน
สาเหตุของอาการป่วยเป็นโรคหลายบุคลิกของเมสัน เกิดจากการถูกแม่แท้ๆ ทารุณกรรมทางเพศด้วยวิธีโหดร้ายเกินกว่าสิ่งที่แม่คนหนึ่งจะทำได้
เมสันบอกกับหมอคอร์เนเลีย วิลเบอร์ (Dr. Cornelia Wilbur) ในช่วงที่เธอเริ่มบำบัดว่า เธอมักจะตื่นขึ้นมาในโรงแรมต่างเมืองที่เธอไม่รู้จักชื่อ และจำไม่ได้ว่าเดินทางมาถึงที่นี่ได้อย่างไร และบางครั้งเธอมักจะยืนงงงวยอยู่หน้าชั้นสินค้าที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยซึ่งเธอไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเธอเป็นคนพังมันกับมือ
หลังจากนั้นเชอร์ลี เมสันกลายเป็นคนดังด้วยอาการของโรคหลายบุคลิก นอกจากหนังสือแล้วเรื่องของเมสันได้ถูกนำไปสร้างเป็นมินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ด้วย จนทำให้เกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากมายว่าเธอป่วยจริงหรือไม่ บางคนก็คิดว่าเธอนั้นหลอกลวงเพราะอยากมีชื่อเสียง และคุณหมอก็เห็นดีเห็นงามจึงฝังเรื่องโรคหลายบุคลิกใส่สมองเธอ
เมสันเสียใจกับข้อกล่าวหานี้มาก เธอจึงเขียนจดหมายหาหมอวิลเบอร์เพื่อบอกว่า เธอสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อหลอกทุกคน แต่หมอกลับบอกเธอว่า สมองเธอต่างหากที่สร้างเรื่องมาหลอกตัวเองว่าเธอไม่ได้ป่วย
สุดท้ายเมสันยอมรับในโรคหลายบุคลิกของตัวเธอ และเข้ารับการบำบัดกับหมอวิลเบอร์ต่อไป จนเผยตัวตนออกมาได้ถึง 16 ตัวตน
By Lorimar Productions/NBC
ขวา – ซัลลี่ ฟิลด์ (Sally Field) ในบทซีบิล
ซ้าย – โจแอน วู๊ดวอร์ด (Joanne Woodward) รับบทเป็นคุณหมอวิลเบอร์
ในฉากสุดท้ายของมินิซีรีส์ ซีบิล ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดั่งเจ้าหญิงนิยาย แต่ในชีวิตจริงเมสันกลับต้องพึ่งพิงหมอวิลเบอร์ เธอมีอาการติดยาและไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1988 เชอร์ลี เมสันก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเต้านม
บิลลี่ มิลลิแกน (Billy Milligan)
ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกคนแรก
ที่ศาลตัดสินให้ไม่ต้องรับโทษในอาชญากรรมที่ก่อ
ตัวตนที่พบ : 24
ใครจะเชื่อว่า ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา ผมสีทอง ตาสีฟ้า จากเมืองแลนคาสเตอร์ (Lancaster) รัฐโอไฮโอ(Ohio) ประเทศสหรัฐอเมริกา นามว่าบิลลี่ มิลลิแกน ผู้ที่มีนิสัยสุภาพอ่อนโยนจะข่มขืนผู้หญิงได้ถึง 3 คน
บิลลี่ มิลลิแกน เพิ่งรู้ความจริงว่าเขามีอีกหลายตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจก็เมื่ออายุได้ 22 ปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการถูกตำรวจจับในฐานก่ออาชญากรรม ลักพาตัวและข่มขื่นผู้หญิง 3 คน ในมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University)
ระหว่างการสืบสวนคดีความ เขาเปิดเผยให้เห็นถึงตัวตนที่หลบซ่อนในจิตใจมากกว่า 10 คน จนกระทั่งจิตแพทย์ลงความเห็นว่า บิลลี่ มิลลิแกนป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกทารุณกรรมทางเพศจากพ่อเลี้ยงในวัย 8 ขวบ ทำให้บิลลี่ต้องสร้างตัวตนใหม่ออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยแพทย์ได้ระบุว่ามิลลิแกนมีตัวตนที่แตกต่างกันถึง 24 คน
แต่จะมีเพียงไม่กี่ตัวตนเท่านั้นที่จะได้รับการอนุญาตให้ออกมาโลกภายนอก เช่น อาเธอร์ อายุ 22 ปี ชาวอังกฤษ เป็นผู้ควบคุมและกำหนดบุคลิกที่จะออกมาโลกภายนอก เป็นคนฉลาด พูดสำเนียงอังกฤษ เรเกน วาดาสโควินิช อายุ 23 ปี ชาวยูโกสลาเวีย พูดภาษาอังกฤษที่ติดสำเนียงสลาฟอย่างชัดเจน เรเกนมีความสามารถในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และยังเป็นนักคาราเต้ชั้นยอดด้วย อัลเลน อายุ 18 ปี เป็นคนเจ้าเล่ห์ จอมบงการผู้นี้มักจะเป็นผู้ติดต่อกับคนภายนอก ทอมมี่ อายุ 16 ปี เชี่ยวชาญในการสะเดาะเครื่องพันธนาการต่าง ๆ วิลเลียม สแตนลีย์ มิลลิแกน (บิลลี่ มิลลิแกน) อายุ 26 ปี หรือบิลลี่ มิลลิแกน ตัวตนหลัก และครู อายุ 26 ปี คือตัวตนทั้ง 23 ที่หลอมรวมกัน เป็นผู้สอนตัวตนอื่นๆ ถึงทุกอย่างที่พวกเขาได้เรียนรู้มา ครูเป็นตัวตนที่เฉลียวฉลาด ละเอียดอ่อน มีอารมณ์ขัน เขาบอกว่า “ฉันคือบิลลี่ที่ครบถ้วนสมบูรณ์”
กรณีของมิลลิแกนนี้แตกต่างจากผู้ป่วยด้วยโรคหลายบุคลิกอื่นๆ ที่ได้รับการอ้างถึงในหนังสือจิตวิทยาหรือหนังสือทั่วไปซึ่งมักจะได้รับการปกปิดนามจริงในตอนแรกด้วยการใช้ชื่อแฝง มิลลิแกนเป็นที่รู้จักและเป็นที่ถกเถียงของสาธารณะทันทีที่ถูกจับและตั้งข้อหา ใบหน้าของเขาปรากฏบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์และปกนิตยสาร ผลการตรวจสอบทางจิตของเขา เป็นข่าวรอบเย็นทางโทรทัศน์ และพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ทั่วโลก นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกคนแรกที่ได้รับการจับตามองตลอดเวลาในฐานะผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จิตแพทย์ 4 คนและนักจิตวิทยา 1 คนได้รับรองภายใต้คำสาบานว่าเขาเป็นโรคหลายบุคลิกจริง ซึ่งทำให้บิลลี่ มิลลิแกนกลายเป็นผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกคนแรกที่ศาลตัดสินว่าไม่ต้องรับโทษ แต่เขาก็ต้องอยู่ภายใต้การรักษาบำบัดจากนักจิตแพทย์ที่ศูนย์สุขภาพจิตเอเธนส์ โดยหมอเดวิด คอล (Dr. David Caul) ซึ่งหมอสามารถปลดปล่อยตัวตนของ ‘ครู’ ออกมาเพื่อเล่าเรื่องราวชีวิตของบิลลี่ มิลลิแกน ชายหนุ่ม 24 บุคลิก ให้แก่เดเนียล คียส์ (Daniel Keyes) เพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง The Minds of Billy Milligan (ชื่อไทย – บิลลี่ มิลลิแกน ชาย 24 บุคลิก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Amarin)
นอกจากความบันเทิงและสาระความรู้ที่หนังสือเล่มนี้ได้มอบไว้ให้ผู้อ่านแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้ตอบคำถามในใจของใครหลายคนที่เคยสงสัยในตัวของบิลลี่ มิลลิแกน ไม่ว่าเขาจะคือคนลวงโลกที่สามารถหลอกสังคม ทำให้เขารอดพ้นจากการถูกลงโทษในอาชญากรรมร้ายแรงที่เขาก่อขึ้น หรือเป็นเหยื่อของโรคหลายบุคลิกอย่างแท้จริง…คุณจะรับรู้ได้เองเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ
“ตอนนี้ผมรู้แล้ว ตอนที่ตำรวจมาจับผมที่แชนนิงเวย์ ผมไม่ได้ถูก ‘จับ’ จริง ๆ หรอก พวกเขามา ช่วยชีวิต ผมต่างหาก ผมเสียใจที่หลายคนต้องเจ็บก่อนที่มันจะเกิดขึ้น แต่ผมรู้สึกว่าในที่สุดพระเจ้าก็ยิ้มให้ผมเสียทีหลังจากที่อยู่อย่างทรมานมายี่สิบสองปี”
-บิลลี่ มิลลิแกน-
