
การคุยกับคนไร้เหตุผลและขี้เหวี่ยงวีนไม่ใช่เรื่องง่าย มันก็เหมือนกับการที่คุณหันหน้าคุยกับกำแพงนั่นแหละ บางครั้งมันก็เหมือนกับคุณหันหน้าคุยกับระเบิดที่คุณเดาไม่ออกว่ามันจะเบิดตูมใส่เมื่อไร
ฟังดูน่ากลัวจนอยากเบือนหน้าหนีใช่ไหม แต่การเบือนหน้าหนีและถอยห่างไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะการกระทำนั้นอาจกลายเป็นระเบิดปรมาณูทำลายความสัมพันธ์ของคุณจนสิ้นซาก
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อหลบหน้าก็ไม่ได้ คุยด้วยดีๆ ก็ไม่ฟัง
ลองมาดูคำแนะนำจาก มาร์ก กูลสตัน เจ้าของผลงานหนังสือเงียบให้ถูกจังหวะ คนชนะไม่พูดมาก และพูดให้ถูกจังหวะ คนชนะไม่พูดเยอะ เขาคือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่มีประสบการณ์รับมือคนไร้สติมากว่า 30 ปี
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้เอาแต่ใจ ลูกวัยรุ่นที่อารมณ์ขุ่นมั่วเสมอ คู่รักเจ้าน้ำตา เพื่อนร่วมงานผู้ดราม่า ลูกค้าและเจ้านายผู้ไร้สติ 5 วิธีรับมือคนไร้เหตุผลต่อไปนี้กอบกู้ชีวิตคุณจากอาการสติแตกในการรับมือคนเหล่านั้นได้แน่นอน
กลยุทธ์ที่ 1 ชนะสงครามด้วยการยอมแพ้
การทำให้ตัวเองดูอ่อนแอเป็นคนขี้แพ้สามารถช่วยให้คุณกลายเป็นคนชนะในสงครามกับคนไร้เหตุผลได้
เทคนิคการชนะด้วยการยอมแพ้ หรือเรียกว่า เทคนิคหงายท้อง เป็นเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ได้กับคนไร้เหตุผลแบบพบหน้าค่าตา ผ่านโทรศัพท์ หรืออีเมลก็ยังได้
เทคนิคหงายท้องมีหลักง่ายๆ คือ เมื่อคุณผิดจริงๆ ให้ยอมรับความผิด โดยพูดไปตรงๆ ว่า “ฉันเป็นคนผิด แล้วคุณอยากให้ฉันทำอะไรต่อไปเพื่อลบล้างความผิดนี้” เมื่อคุณไม่รู้ว่าตัวเองผิดหรือไม่ แต่อยากสงบศึก ให้พูดว่า “ถ้าฉันพูดหรือทำอะไร มันจะทำให้เรื่องแย่เข้าไปใหญ่ ถ้าฉันไม่พูดหรือไม่ทำ ก็จะทำให้แย่ได้เหมือนกัน ฉันไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ ฉันอยากให้คุณช่วยบอกว่าฉันควรพูดหรือทำอะไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นสำหรับคุณ หรือจะต้องทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้อง”
กลยุทธ์ที่ 2 แต่งงานกับอนาคต
อย่าเริ่มบทสนทนาแบบพายเรือในอ่างกับคนไร้เหตุผล เช่น “คุณไม่มีวันเข้าใจหรอก” “คุณประเมินผมต่ำเกินไปเสมอ” “เธอไม่เคยรับผิดชอบเลย” “คุณทำให้ฉันผิดหวังตลอด” แบบนี้เรียกว่า แต่งงานกับอดีต
กลยุทธ์แต่งงานกับอนาคต คือ การนึกภาพวันพรุ่งนี้หรือปีหน้า และชีวิตคุณในอีกสิบปีจากนี้ และทำให้คนโกรธนั้นมองเห็นภาพเดียวกับคุณ ซึ่งเป็นเทคนิคอันทรงพลังในการรับมือเพื่อน คู่สมรส ลูก ๆและคนอื่น ๆ ที่คุณรัก
“สิ่งหนึ่งที่ผมโปรดปรานในเทคนิคมองไปข้างหน้าก็คือ คุณนำไปใช้ได้กับความไร้สติทุกรูปแบบ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ออกจะเป็นเทคนิคครอบจักรวาล” – มาร์ก กูลสตัน
ขั้นตอนการนำไปใช้
- ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายรักกันดี แต่ทั้งคู่ต่างทำตัวบ้า ๆ เป็นบางครั้ง ขอให้นั่งคุยกันโดยมองไปข้างหน้า ให้คุณถามตัวเองก่อนว่า จากนี้ไป คุณจะทำอะไรเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น จากนั้นลองฟังดูว่าอีกฝ่ายจะพัฒนาความสัมพันธ์อย่างไรนับจากนี้ไป
- ถ้าคุณเจอพฤติกรรมเหลือรับที่ทำงานหรือที่บ้าน ใช้เทคนิคมองไปข้างหน้าแบบฉบับรุนแรง จดผลที่จะเกิดตามมาจากพฤติกรรมในอนาคตของคนนั้น (ถ้าเป็นไปได้ ให้คนนั้นร่วมกำหนดผลที่เกิดตามมาด้วย หรือกำหนดผลที่ยอมรับร่วมกัน) จากนั้นทำตามให้ครบถ้วน
- ถ้าคุณเป็นเจ้านายที่รับมือลูกน้องไร้เหตุผล ใช้เทคนิคมองไปข้างหน้าขณะสอนงาน ดูให้แน่ใจว่าคุณบันทึกการสนทนาทั้งหมดไว้เพื่อใช้ติดตามผลและเสริมกำลังใจ
กลยุทธ์ที่ 3 มุ่งสู่ใจกลางพายุ
ไม่มีใครไร้สติโดยสิ้นเชิง พายุทุกลูกล้วนมีพื้นที่สงบอยู่ตรงไหนสักแห่ง เวลาคุยกับคนที่พายุอารมณ์พลุ่งพล่านเกินปกติ หนึ่งในกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการพุ่งเป้าไปที่ใจกลางของพายุ
กลยุทธ์นี้นิยมใช้กับคนที่มักร้องไห้ กรีดร้อง ตะโกน ปิดประตูปึงปังหรือชอบระเบิดอารมณ์
เมื่อคนๆ นั้นนอตหลุด ให้ทำต่อไปนี้
ปล่อยให้เขาระบายอารมณ์ออกมา
- รับฟังอย่างสงบโดยไม่ทำอะไร
- ถ้าคุยโทรศัพท์พยายามไม่วางสายใส่เขา
- ถ้าคุยกันตัวต่อตัว ให้จ้องตาซ้ายของอีกฝ่ายเพื่อสื่อสารกับสมองซีกขวาที่ควบคุมอารมณ์ของบุคคลนั้น
เมื่อการระบายอารมณ์สิ้นสุด นำทางบุคคลนั้นสู่ใจกลางพายุ ด้วยการถามคำถามต่อไปนี้
- อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาจำเป็นต้องทำในระยะยาว
- อะไรคือสิ่งสำคัญที่เขาจำเป็นต้องทำในระยะสั้น
- อะไรคือสิ่งที่เขาจะต้องทำตอนนี้
มีเคล็ดลับข้อหนึ่ง นั่นคือ คุณต้องเชื่ออย่างเต็มที่ว่าบุคคลที่คุณรับมือนั้นมีสติอยู่บ้าง ไม่ว่าเขาจะทำหรือพูดอะไรขณะที่อาละวาด ถ้าไม่เชื่อ คุณจะทำไม่สำเร็จ
กลยุทธ์ที่ 4 ยื่นความผิดหวัง
การระเบิดอารมณ์ไม่ใช่ความเกลียดชังหรือความรังเกียจ แต่เป็นความผิดหวัง แต่คนแทบไม่ใช้คำนั้น แต่จะใช้ถ้อยคำเลวร้ายที่ไม่ได้หมายความตามนั้น
เมื่อคุณยื่นความผิดหวังเป็นทางเลือกให้กับพวกเขา และพวกเขายอมรับว่าตนผิดหวังมากกว่าเกลียดชัง ความโกรธมักสลายตัวอย่างรวดเร็ว และคุณเองก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการแก้ตัวด้วย เพราะความผิดหวังเกิดจากสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่ตัวตนที่คุณเป็นจริง ๆ
ถ้าคนไร้เหตุผลเห็นด้วยว่า “ใช่ ฉันผิดหวังในตัวคุณ” ให้ถามอย่างใจเย็นและเข้าอกเข้าใจว่า “ผิดหวังยังไงหรือ” จากนั้นก็ให้อีกฝ่ายพูด แล้วขุดให้ลึกลงอีกด้วยการถามว่า “มีอะไรที่ผมทำหรือไม่ได้ทำที่ทำให้คุณผิดหวังที่สุดตั้งแต่เรารู้จักกันมา” จากนั้นก็ขอโทษที่ทำแบบนั้น
ถึงคุณจะรู้สึกว่าทำได้ยากสักแค่ไหน แต่คุณจะเห็นได้ว่ามันทำให้บุคคลนั้นมองคุณในทางที่ต่างไปและใจอ่อนลง และสิ่งน่าสนใจอีกประการที่มีแนวโน้มจะเกิดก็คือ เขาหรือเธอจะหันมาหาคุณและอาจบอกว่า “ฉันรู้ว่าฉันเองก็ทำหลายอย่างให้คุณผิดหวังเหมือนกัน” และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาบทใหม่ก็เป็นได้
กลยุทธ์ที่ 5 3 น. โน้ม-แนะ-นำ
คนที่ติดกับดักความกลัวก็เหมือนหนูถีบจักร ความคิดของคนๆ นั้นจะปั่นวนไปเรื่อย ๆ และขณะที่คิดหมุนวน การควบคุมตัวเองก็จะลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ
“ผลการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจต้องเจอมะเร็งแน่ ๆ โอย ทำยังไงดีฉันกำลังจะตาย ใครจะดูแลลูก ๆ ให้ล่ะนี่ ฉันกำลังจะตายจะทำยังไงดีนะ”
ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าคุณพยายามช่วยคนไร้สติเพื่อตัดขาดความกลัวด้วยการบอกว่า “ใจเย็น ๆ รับรองว่าทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยดีแน่ ๆ” เพราะคนที่กลัวจับจิต ไม่พร้อมฟังคำพูดแบบนี้และคำพูดของคุณนอกจากจะไม่เข้าหูแล้วยังอาจทำให้คนๆ นั้นโมโหคุณอีก
หากอยากช่วยหนูถีบจักเหล่านี้ คุณต้องยอมรับความกลัวของอีกฝ่าย จากนั้นค่อย ๆ หาทางนำทางเขาออกมาด้วยเทคนิคสาม น. โน้ม-แนะ-นำ
- โน้มตัวเข้าไป รับรู้ว่าปฏิกิริยาของเขาคนนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลในมุมมองของเขา
- แนะให้เห็นความจริง ช่วยให้คนนั้นเข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง คุณจะพูดในลักษณะนี้ก็ได้ “ผลการตรวจชิ้นเนื้อของคุณอาจออกมาแย่ได้ก็จริงนะ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น เราก็จะรับมือได้แหละ เหมือนตอนที่ผมป่วยไง แต่ผมจำที่หมอบอกได้นะว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าว่าผลตรวจอาจไม่เจออะไร แล้วหมอก็บอกอีกด้วยนะว่าต่อให้เจอ มะเร็งชนิดนี้ก็มีโอกาสรักษาได้สูง”
- นำเขาไปสู่อนาคต ช่วยกันคิดแผนที่ทำได้จริง แล้วลงมือทำเพื่อก้าวไปข้างหน้า ลองพูดแบบนี้ดูสิ “ตอนนี้มีอะไรที่พอจะช่วยคลายเครียดให้คุณระหว่างรอผลตรวจบ้าง ไปดูหนังหรือไปวิ่งกันไหม”
รับมือกับคนไร้เหตุผลและเหวี่ยงวีนอีกหลากหลายรูปแบบด้วยคำแนะนำจากมาร์ก กูลสตัน
