
To the moon and back ประโยคที่หลายคนคุ้นเคยและใช้กันอย่างแพร่หลาย เกิดเป็น quote อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งประโยคนี้อยู่ในนิทานภาพสำหรับเด็กชื่อดังอย่าง ทายซิ ทายซิ หนูรักพ่อมากแค่ไหน (Guess how much I love you) อีกด้วย
“เมื่อเรารักใครสักคนมากๆ เรามักจะหาวิธีเพื่อบอกว่ารักของเราที่มีต่อเขายิ่งใหญ่มากขนาดไหน
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะวัดความรักนั้น”
ทายซิ ทายซิ หนูรักพ่อมากแค่ไหน เรื่องโดย แซม แม็คบราทนีย์ ภาพโดย แอนิต้า เฌอแรม นิทานภาพสำหรับเด็ก ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994 และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากด้วยยอดขายกว่า 18 ล้านเล่ม ด้วยเนื้อเรื่องเรียบง่าย แต่แสนอบอุ่น ดำเนินเรื่องผ่านกระต่ายน้อยและพ่อกระต่ายที่กำลังจะเข้านอน ซึ่งกระต่ายน้อยอาจเปรียบได้กับเด็กๆ มีความซนเล็กๆ ตรงที่ไม่นอนในทันที จึงชวนพ่อกระต่ายคุย พร้อมกับถามว่า ทายซิ ทายซิ หนูรักพ่อมากแค่ไหน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียบง่าย แต่น่ารักและอบอุ่น ด้วยภาพประกอบที่ใช้สีน้ำ ในโทนสีอบอุ่น สบายตา มีพื้นที่ว่างทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดระหว่างอ่าน เห็นภาพการเคลื่อนไหวของกระต่ายสองพ่อลูกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีรายละเอียดเล็กๆ ที่น่ารักมากนั่นก็คือ เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่หน้าแรกที่เราเปิดมา ภาพพ่อกระต่ายมีเจ้ากระต่ายตัวน้อยเกาะอยู่บนหลังและมองสบตากับเราตอนเปิดมาเจอนั้น เหมือนกำลังจะบอกว่า มาซิ มาทายกันซิว่า หนูน่ะรักพ่อมากแค่ไหน เมื่อเปิดหน้าถัดไป เป็นภาพพ่อกระต่ายค่อยๆ กระโดด จนถึงหน้าที่จะเริ่มเรื่องจริงๆ พ่อกระต่ายจึงกระโจนเข้าเรื่องอย่างเนียบเนียน
หนังสือภาพมักมีรายละเอียดเล็กๆ เช่นนี้เสมอ ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราก็มักจะมองข้ามไป
แต่เด็กๆ นั้นช่างสังเกตและเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าเราคิด
เมื่อกระต่ายน้อยเตรียมตัวจะเข้านอน แต่กลับอยากรู้ว่าพ่อกำลังฟังที่มันพูดอยู่หรือเปล่านะ จึงถามขึ้นว่า ทายซิ ทายซิ หนูรักพ่อมากแค่ไหน เรื่องราวของการบอกรักของสองพ่อลูกก่อนเข้านอนจึงเริ่มต้นขึ้น กระต่ายน้อยบอกรักพ่อด้วยวิธีการของตัวเองไปเรื่อยๆ พ่อกระต่ายเองก็ตอบกลับกระต่ายน้อยด้วยวิธีการเดียวกัน แต่ดูเหมือนจะมากกว่าที่กระต่ายนิดนึง
เมื่อกระต่ายน้อยบอกว่า รักพ่อมากเท่านี้ เท่าแขนเล็กๆ ที่กางออกกว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ พ่อกระตายจึงกางแขนออกกว้างกว่าและบอกว่า “แต่พ่อรักลูกมากเท่านี้”
ภาพและคำพูดเรียบง่าย แต่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่น และหัวใจค่อยๆ ฟูขึ้นเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เหมือนกับว่าเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เป็นกระต่ายน้อยที่ช่างสงสัย มีกล้าที่จะบอกรักได้อย่างง่ายดาย และช่างเปรียบเทียบเสียเหลือเกิน
การบอกรักของกระต่ายน้อยกับพ่อกระต่ายดำเนินไปเรื่อยๆ ระหว่างทางที่ทั้งสองบอกว่ารักกันมากเท่าไหนนั้น เราสังเกตเห็นอีกสิ่งที่อยู่ในนิทานเรื่องนี้ นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับ คณิตศาสตร์
นิทานภาพที่บอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความอบอุ่นของพ่อกับลูกน่ะเหรอจะมีเรื่องเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ได้
คำตอบก็คือ ใช่!
เพราะตลอดเรื่อง ท่าทางและการบอกรักของสองพ่อลูกกระต่ายคู่นี้ มีทั้งบอกว่า
กางแขนกว้างที่สุด รักพ่อสูงลิบเท่าสุดมือ
พ่อรักลูกไกลเลยแม่น้ำ แล้วก็ข้ามเนินเขาไปอีก …
นี่ยังไงละที่บอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ด้วย เป็นความแนบเนียนที่นิทานหลายๆ เรื่องมี
นิทานที่เรามักมองว่าต้องการสื่อแค่เรื่องใดหนึ่งเรื่อง จริงๆ แล้วถ้าหากมองให้ลึกลงไป และเปิดใจกับหนังสือที่เราคิดว่า เป็นแค่หนึ่งของเด็กๆ เท่านั้น เราก็จะพบว่า จริงๆ แล้วหนังสือนิทานมีอะไรมากกว่าที่เราคิดเสียอีกนะ
และประโยคเด็ดจากเรื่องนี้ คงนี้ไม่พ้นประโยคจบของเรื่อง (ซึ่งคงต้องสปอยล์หน่อยละนะ) เมื่อบอกรักกันจนกระต่ายน้อยง่วงนอนเต็มทีและถึงเวลาเข้านอนที่แท้จริง ก่อนหลับไปกระต่ายน้อยบอกกับพ่อของเขาว่า
หนูรักพ่อตรงขึ้นไปจนถึงดวงจันทร์ “I love you right up to the MOON.”
พ่อกระต่ายจึงบอกว่า
พ่อรักลูก ตรงขึ้นไปจนถึงดวงจันทร์และกลับลงมา “I love you right to the moon- AND BACK”
เรื่องราวของสองพ่อลูกจบลงพร้อมกับรอยยิ้มและความรัก ซึ่งนานๆ เราจะเห็นนิทานภาพที่เป็นเรื่องความรักของพ่อลูกสักที กระต่ายน้อยน่าจะนอนฝันดี พ่อกระต่ายเองก็คงจะฝันดีเช่นกัน จากนิทานเรื่องนี้ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่า ความรักเป็นเรื่องที่ดีเสียจริงๆ และการบอกรักกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะบอกออกไปเลย J

เดือนสาม
มนุษย์กรุ๊ปบีที่เกิดเดือนสาม สนใจหนังสือภาพ ท้องฟ้า อวกาศ จักรวาลและงานวาดเป็นพิเศษ ชอบกลิ่นกาแฟแต่ไม่กินกาแฟ ติดชาเย็นหวานน้อย และกำลังค่อยๆ เรียนรู้เพื่อเติบโตอยู่