
เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาดให้เป็นเรื่องปกติ
ในความเป็นมนุษย์สามัญทำงานกินเงินเดือนหรือค้าขายเล็กๆน้อยๆพอเลี้ยงชีพ มีบัตรเครดิตใบสองใบเอาไว้หมุน มีบ้านไว้ให้ผ่อน มีรถไว้ให้ซ่อม แล้วถ้ามีใครมาถามว่า รู้จัก “เศรษฐศาสตร์” ไหม คำตอบก็น่าจะประมาณว่า “คุ้นๆนะ แต่ไม่เห็นหน้ามานานแล้ว” ก็เป็นได้
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามไหมเป็นว่ารู้จัก “เศรษฐกิจ” ไหม รับรอง คำตอบมาเป็นชุด
“ช่วงนี้ขายไม่ค่อยดี เศรษฐกิจมันแย่” อะไรประมาณนี้
ที่เรารู้สึกว่าคุ้นเคยกับเศรษฐกิจก็เพราะมันใกล้ตัว เป็นเรื่องปากท้อง ได้ยินได้ฟังคำนี้บ่อยจากข่าวสาร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจมันผูกพันกันอย่างไม่อาจแยกจาก
เราเลยรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว ไม่เห็นจะต้องไปสนใจเลย ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิชาการ เป็นเรื่องของรัฐบาลไปดีกว่า เพราะถึงรู้จักก็คงไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น มีกินมีใช้มากขึ้น
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือ…..
ในความเป็นจริงแล้ว สรรพสิ่งรอบๆตัวเราที่ใช้อยู่ ใช้กิน ล้วนเกิดจากแรงผลักในกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น แต่อุปสรรค์มันอยู่ตรงที่จะไปหาใครมาเล่าเรื่องเหล่านี้แบบภาษาชาวบ้านให้เราเข้าใจได้ที่ไหน เปิดกูเกิ้ลก็มีแต่ ดีมาน ซับพลาย อุปสงค์ อุปทาน มหภาค จุลภาค ชนิดไปต่อไม่เป็น จนมาเจอกับหนังสือชื่อ “เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาดให้เป็นเรื่องปกติ” เขียนโดย ปาร์คจองโฮ แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส เลยรู้สึกว่ามีตัวช่วยแล้ว เพราะแค่ปกหลังที่โปรยหัวข้อก็ยั้งใจไม่อยู่ ไม่คิดเลยว่า เรื่องเหล่านี้มันคือเศรษฐศาสตร์นะ เช่น ต้นกำเนิดแฟนต้ามาจากฮิตเลอร์จริงหรือ, เราเริ่มใช้ซิปแทนกระดุมกันตอนไหน,เปิดร้านใกล้คู่แข่ง วินๆทุกฝ่ายจริงหรือ อะไรประมาณนี้ เรียกว่าเอาสิ่งที่เรากินเราใช้ในชีวิตประจำวันนี้แหละมาเล่ามาชำแหละให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆว่า หลายๆอย่างที่เราใช้กันจนเป็นปกติในชีวิตนั้น ตอนที่มันเกิดขึ้นมา ผู้คนต่างมองว่ามันเป็นสิ่งประหลาดนะ คิดขึ้นมาได้อย่างไร
ยกตัวอย่าง
เรื่องซิป คนสมัยก่อนก็สงสัยว่า คิดมาทำไม กระดุมก็มีใช้อยู่แล้ว แต่พอเวลาผ่าน ซิปก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งเครื่องใข้และเครื่องแต่งตัว
ต้นกำเนิดแฟนต้ามาจากฮิตเลอร์จริงหรือ ทำไมไม่ถามว่า สงครามโลกครั้งที่สองต้นกำเนิดมาจากฮิตเลอร์จริงหรือ โดยหนังสืออธิบายเป็นฉากๆน่าสนุกกันทีเดียวว่า ตอนแรกนั้นคนเยอรมันทั้งประเทศติดโคล่า แต่พอเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น หัวเชื้อน้ำอัดลมไม่มีส่งมาเพราะเป็นคู่สงครามกัน เยอรมันเลยคิดทำโคล่าเอง ก็ไม่สำเร็จเพราะขาดวัตถุดิบ แต่ผู้คนยังต้องการบริโภคอะไรที่มันซ่าๆอยู่ เลยเอานั่นเอานี่มาผสมกันภายใต้ข้อจำกัดของวัตถุดิบในภาวะสงครามจนกลายเป็นน้ำอัดลมใหม่ แล้วตั้งชื่อว่า แฟนต้า ที่แผลงมาจากคำว่า แฟนตาซี โดยต้องการให้สื่อว่า “เมื่อดื่มแล้วจะเกิดความคิดดีๆ” ซึ่งไม่ใช่แต่ชาวบ้านร้านตลาดเท่านั้นที่ชอบ แต่กองทัพนาซียังใช้มันแทนน้ำเปล่าสำหรับทหารในกองทัพด้วย ยิ่งสงครามเริ่มถึงจุดแตกหัก ชาวเยอรมันขาดแคลนของกินของใช้มากขึ้นโดยเฉพาะน้ำตาล ก็เลยให้มาใช้ แฟนต้า แทนน้ำตาลในการปรุงอาหาร จนสงครามสงบแฟนต้าก็ยังเป็นที่นิยม และแพร่หลายออกไปนอกเยอรมัน บริษัทโคคา-โคล่า เลยซื้อกิจการของแฟนต้าเสียเลย จะได้ไม่มีคู่แข่ง
กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ เรียกว่า สินค้าทดแทน ซึ่งเมื่ออ่านไปในอีกหลายบท เราก็เห็นชัดว่า บางที่สินค้าทดแทน หรือสินค้าที่เหมือนกันอย่างบะหมี่สำเร็จรูปที่มีสาระพัดยี่ห้อ หรือซีเรียลที่กินเป็นอาหารเช้าก็เหมือนกัน ที่เมื่อไปพลิกอ่านข้างกล่องก็จบพบว่าเกิดจากผู้ผลิตไม่กี่เจ้า นี่ก็เศรษฐศาสตร์ ในการสร้างคู่แข่งขึ้นมาคุมตลาดก่อนที่คนอื่นจะเข้ามา ซึ่งไม่เพียงคุมตลาดหรือผูกขาดตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการผูกขาดวัตถุดิบในการผลิตอีกต่างหาก
ทุกตัวอย่างที่ยกมาในหนังสือล้วนใกล้ตัวทั้งสิ้น เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่ายตั้งแต่สิ่งเล็กๆใกล้ตัวไปที่เรากินเราใช้ ลามไปถึงเข้าใจห้างซุปเปอร์สโตร์มาจนถึงร้านสะดวกซื้อที่ทำไมต้องมาเปิดชนกันในซอยเดียวกัน
สิ่งที่ได้จากหนังสือ “เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาดให้เป็นเรื่องปกติ” จึงเป็นการเติมเต็มความกระหายใคร่รู้ในการทำความเข้าใจกับทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ที่เราสร้างมันขึ้นมา
แต่ที่ยังหาคำตอบจากหนังสือไม่ได้ก็คือ ทำไมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมีความอิ่มมีความสุขมากกว่าอ่านนิยายก็ไม่รู้

การะเกด
เป็นคนอ่านหนังสือ เป็นคนเขียนหนังสือ เป็นคนดูหนัง เป็นคนฟังเพลง ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อจับประเด็นมาเล่าสู่กันฟัง