
มะเร็งเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ผู้คนเกรงกลัว นอกจากความรุนแรงของโรคที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วแล้ว กระบวนการรักษาที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก
เป็นที่ทราบกันดีว่า ตัวการสำคัญที่เพาะเชื้อมะเร็งให้เกิดขึ้นในร่างกาย ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราทั้งสิ้น ไม่ว่าความเครียด สิ่งเสพติด การพักผ่อน การออกกำลังกาย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ อาหารการกิน
ด้วยเวลาที่เร่งรีบและการใช้ชีวิตแบบสำเร็จรูป ทำให้ผู้คนหันมากินอาหารสำเร็จที่แค่ฉีกถุงก็พร้อมเสิร์ฟ แต่กลับกินผักผลไม้น้อยลง และปรุงรสมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าอาหารไม่ใช่เรื่องสำคัญ แค่อร่อยและอิ่มท้องก็พอ นานวันเข้า พฤติกรรมการกินอาหารสำเร็จซ้ำๆ กลายเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง
หากใครต้องการห่างไกลจากโรคมะเร็ง ต้องเริ่มปฏิวัติการกินอาหารเสียใหม่ โดยมีหลักการที่ทำตามไม่ยาก ดังต่อไปนี้
1.หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ไส้กรอก หมูยอ แหนม ปลาเค็ม ปลากระป๋อง เป็นต้น
2.รักษาความสะอาดเสมอระหว่างทำอาหารเริ่มตั้งแต่การล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหาร ล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาด แยกวัตถุดิบกับอาหารปรุงสุกแล้วออกจากกัน แยกเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้กับอาหารสดกับอาหารปรุงสุกเพื่อลดการปนเปื้อน
3.ควรปรุงสุกเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ และอาหารทะเลเสมอ ถ้าเป็นซุปหรือแกงควรปรุงให้เดือด เพื่อให้มั่นใจว่าอุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียส และเนื้อไม่มีสีชมพู
4.ถ้าปรุงสุกทิ้งไว้นานแล้ว ต้องอุ่นก่อนกินเสมอ
5.ถ้าซื้ออาหารสดมาแล้วยังไม่ปรุง ควรรีบแช่เย็นทันที ส่วนอาหารปรุงสุกแล้วไม่ควรวางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง
6.ถ้ากินไม่หมดควรนำไปแช่เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส แล้วนำมาอุ่นให้อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียสก่อนกิน
7.เลือกวัตถุดิบสดใหม่ ล้างผักผลไม้โดยให้น้ำไหลผ่านเพื่อให้สารตกค้างออกให้มากที่สุด
8.ใช้เครื่องปรุงเท่าที่จำเป็น บางเมนูใส่น้ำปลาแล้วยังมีน้ำมันหอย และซอสปรุงรสอีก ทำให้ร่างกายได้โซเดียมมากเกินไป หรือปรุงรสจัดเกินไป วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้รสชาติจากวัตถุดิบธรรมชาติ แต่หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่อร่อย ลองเปลี่ยนมาใช้รสชาติจากส่วนผสมอื่นแทน เช่น รสเค็มจากปลาทะเลตัวเล็ก สาหร่าย กุ้งแห้ง รสหวานจากหอมหัวใหญ่ หัวไช้เท้า มันเทศ และแอ๊ปเปิ้ล เป็นต้น
9.เน้นการปรุงอาหารด้วยวิธี ต้ม นึ่ง และอบ เพราะใช้ความร้อนต่ำ ขณะที่การทอด ปิ้ง และย่างต้องใช้ความร้อนสูงเป็นเวลานาน ซึ่งจะเพิ่มสารก่อมะเร็งได้
10.กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เพื่อควบคุมภาวะโภชนาการให้สมดุล เพราะผอมเกินไปหรืออ้วนเกินไปก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งทั้งสิ้น ฉะนั้นต้องรับประทานให้ครบในสัดส่วนที่พอดี
11.กินผักผลไม้ที่มีสารพฤกษเคมีจากผักผลไม้สด ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ และยังมีใยอาหารมากพอที่จะช่วยขับสารพิษได้อีกด้วย
12.ล้างพิษของสารก่อมะเร็ง ด้วยผักบางชนิด เช่น มะรุม ซึ่งช่วยลดการก่อมะเร็งลำไส้ได้
ตัวอย่างเมนูอาหาร
ไก่อบซอสองุ่น
เนื้ออกไก่ 150 กรัม
น้ำองุ่น 100 % 5 ช้อนโต๊ะ
องุ่นแดงไร้เมล็ดสับหยาบ 50 กรัม
ซีอิ๊วขาว 1/4 ช้อนชา
น้ำมันหอย 1 ช้อนโต๊ะ
พริกไทยดำบดละเอียด 1/4 ช้อนชา
ผงเจลาติน 1 ช้อนชา
ผักกาดแก้ว 100 กรัม
วิธีทำ
1.หมักอกไก่กับน้ำองุ่น 3 ช้อนโต๊ะ น้ำมันหอย 1 ช้อนชา และพริกไทยดำ 1/4 ช้อนชา พักไว้นาน 20-30 นาที
2.ห่อไก่หมักด้วยแผ่นฟอยล์ แล้วนำไปอบด้วยอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียสนาน 10 -15 นาทีจนสุกดี
3.นำน้ำหมักไก่ที่เหลือมาทำซอสองุ่น โดยเติมน้ำองุ่น ซีอิ๊วขาว และน้ำมันหอยที่เหลือลงไป ตามด้วยเจลาติน เคี่ยวในกระทะด้วยไฟอ่อนจนข้นหนืด จากนั้นใส่องุ่นสับลงคนพอเข้ากัน ยกลงจากเตา
4.หั่นไก่เป็นชิ้นพอดีคำ จัดใส่จานเสิร์ฟ ราดซอสองุ่นเล็กน้อย เสิร์ฟพร้อมกับผักกาดแก้ว
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
เนื้ออกไก่เป็นส่วนที่ไขมันน้อยแต่โปรตีนสูง ใช้วิธีอบแทนการย่างหรือทอดที่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า ซอสองุ่นก็เต็มไปด้วยสารต้านอนุมุลอิสระ และการกินคู่กับผักกาดจะช่วยกระตุ้นการกำจัดสารก่อมะเร็งอีกด้วย
ยำพฤกษเคมี
สตรอว์เบอร์รี่ขนาดกลางผ่าซีก 1 ถ้วย
ผักโขมลวก 1 ถ้วย
หอมเล็ก ½ ถ้วย
น้ำทับทิม 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา ½ ช้อนชา
น้ำมะนาว ½ ช้อนชา
วิธีทำ
1.ทำน้ำยำโดยผสมหอมเล็ก น้ำทับทิม น้ำปลาและน้ำมะนาวเข้าด้วยกัน
2.จัดผักโขมและสตอรว์เบอร์รี่ใส่จาน เสิร์ฟพร้อมน้ำยำ
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
อุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีจากสตรอว์เบอร์รี่ผักโขม น้ำทับทิม และหอมเล็ก ซึ่งมีรายงานวิจัยว่าช่วยต้านอนุมูลอิสระและสารก่อมะเร็งได้
เรียบเรียงจากหนังสือ กินเป็นมะเร็งขยาด กินฉลาดมะเร็งไม่มา สนพ. อมรินทร์ Health
และ อาหารต้านมะเร็ง สนพ. อมรินทร์ cuisine โดย ผศ.ดร. ทพญ. ดุลยพร ตราชูธรรม

แม่ปานเมืองนนท์
บรรณาธิการหัวฟูลุยทั้งงานนอกบ้าน พร้อมๆกับเป็น super mom ของหนุ่มน้อยวัย 5 ขวบ จึงต้องได้ทดลองใช้ ทดลองหลายอย่างด้วยตัวเองเพื่อหาสิ่งดีๆให้กับลูก ทั้งอาหารการกิน สุขภาพ หนังสือ และของเล่นสำหรับเด็ก