
องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International ; ADI) ได้ประกาศให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็น “วันอัลไซเมอร์โลก” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้าใจโรคนี้กันมากขึ้น เนื่องจากจำนวนของผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
เรามาทำความรู้จักโรคอัลไซเมอร์กันเถอะ
“สมอง” เปรียบดั่งศูนย์บัญชาการสูงสุดของร่างกาย ทุกๆ ส่วนของสมองจะทำงานสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายเพื่อให้ร่างกายสามารถตอบสนอง รู้ คิด ตัดสินใจ และจดจำ ได้ ฯลฯ หากสมองส่วนใดบกพร่องลงย่อมส่งผลต่อร่างกายด้วย ทั้งนี้ความบกพร่องของสมองร้ายแรงเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ “โรคความจำเสื่อม” หรือ “ภาวะสมองเสื่อม”
หลายๆ คนมักเข้าใจว่า “โรคอัลไซเมอร์คือโรคสมองเสื่อม” หรือ “โรคสมองเสื่อมคือโรคอัลไซเมอร์” แท้จริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของ “โรคสมองเสื่อม” ที่พบมากในผู้สูงอายุ
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยที่สุดของ “โรคสมองเสื่อม”
จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุชาวไทยที่เป็นโรคสมองเสื่อมจำนวน 10 คน จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ 5-6 คน แต่สำหรับผู้สูงอายุต่างชาติในจำนวน 10 คนนั้น จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากถึง 8 คน
อัลไซเมอร์เกิดจากอะไร
มีพยาธิกำเนิดจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญเราพบว่า สารแอมีลอยด์ (amyloid) และโปรตีนที่เรียกว่า เทา (tau) ซึ่งมีหน้าที่คล้ายๆ กับนั่งร้านของเซลล์มีความผิดปกติ หรือล่มสลาย เซลล์สมองจึงฝ่อลง ส่วนสารแอมีลอยด์จะอยู่นอกเซลล์ เมื่ออยู่นอกเซลล์ก็กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม จากนั้นเนื้อสมองก็จะเกิดการอักเสบและบวมในเนื้อสมองตามมา เมื่อมีการอักเสบก็จะมีเซลล์เกลีย (glia) มาทำลายเพื่อให้สารแอมีลอยด์ออกไป จากนั้นจะมีเม็ดเลือดขาวเข้ามาทดแทน เกิดปฏิกิริยาและเกิดสารหลั่งในสมองที่บ่งว่ามีการอักเสบ (inflammation) มาก เช่น สารกลุ่มอินเทอร์ลิวคิน (interleukins)
สารแอมีลอยด์มีทั้งระยะที่ละลายได้กับระยะที่ตกผลึกซึ่งเป็นตัวต้นกำเนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการทำลายเซลล์สมอง ในขณะเดียวกันสารแอมีลอยด์ก็เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (biomarker) ด้วย ถ้าเรามีตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคก็จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อน นั่นคือการตรวจน้ำไขสันหลัง การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ MRI ตรวจทดสอบแบบประสาทจิตวิทยา เป็นต้น
อาการ
ปัญหาเด่นของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็คือ “การสูญเสียความจำใหม่ๆ” เพราะสมองส่วนกลีบขมับด้านใกล้กลาง (medial temporal lobe) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ความจำใหม่ๆ” ที่จะต้องจดจำนั้น มีพยาธิสภาพฝ่อลงจึงทำให้สูญเสียความจำระยะสั้นหรือความจำใหม่ๆไป
นอกจากเรื่องของความจำแล้ว สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของ “โรคอัลไซเมอร์” อีกอย่างคือ การรับรู้มิติสัมพันธ์และการใช้ภาษาบกพร่องหรือผิดเพี้ยนไป เช่น ผู้ป่วยมักเรียกสิ่งของ หรือวัตถุไม่ถูกต้อง หากเกิดการรับรู้มิติสัมพันธ์บกพร่องหรือผิดเพี้ยนระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะเดินหลงทางได้
ระดับของโรคอัลไซเมอร์
ระดับแรก จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ นั่นคือเฉยชา นิ่งเฉย ถัดไปก็จะซึมเศร้า แต่อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะอยากอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่อยากทำอะไร มากกว่าการบอกว่า เสียใจ เบื่อหน่าย ท้อแท้
ระดับกลาง ผู้ป่วยจะเริ่มคิดผิดหลงผิด เห็นภาพหลอน เห็นคนรู้จักเก่าๆ รวมไปถึงผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วกลับมาเยี่ยม ส่วนใหญ่คนที่เห็นนั้นมักมีความผูกพันกัน บางรายอาจคิดว่าสามีหรือภรรยาของตนมีชู้ บางรายอาจคิดว่ามีคนมาขโมยของของเขาไป บางรายอาจคิดว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่บ้านของตนแน่ๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าบ้านของตนอยู่ตรงไหน
อัลไซเมอร์ในวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน
นอกจากผู้สูงอายุแล้ว เรายังพบว่าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคนยังป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย เรียกว่า สมองเสื่อมก่อนวัย (early onset dementia) โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์กลุ่มนี้ราว 10 %
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีประวัติว่ามีญาติพี่น้องเป็นอัลไซเมอร์ตั้งแต่วัยกลางคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้นอกจากจะมีอาการอัลไซเมอร์แล้ว ยังมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ชัก ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก ขาสองข้างอ่อนแรง ซึ่งไม่เหมือนกับอาการในผู้สูงวัยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีการดำเนินโรคเร็วกว่าในผู้สูงวัย เช่น จากระยะเริ่มวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุจนถึงมีอาการเดินหลง คิดผิดหลงผิดจะใช้เวลาถึง 7 ปี แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในกลุ่มวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนจะใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นก็เดินหลงแล้ว ผู้ป่วยอัลไซเมอร์กลุ่มนี้จึงมักจะเสียชีวิตเร็ว
การรักษา
ปัจจุบันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ยอมรับว่า ยารักษาอัลไซเมอร์เพียงอย่างเดียวจะทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนขึ้นได้เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่กินยา แต่พบว่าผู้ป่วยที่ไม่กินยามักจะมีอาการเอะอะ ก้าวร้าว คิดผิดหลงผิดมากกว่าผู้ที่กินยา ในที่สุดก็อาจจะมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นเข้ามาจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตไปก่อน
สิ่งที่แนะนำให้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยคือ ให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมนันทนาการ ฝึกสมองบ่อยๆ ในหลายๆ ทักษะ เช่น เตือนความจำ เตือนเรื่องเวลา สถานที่ เตือนเรื่องการช่วยเหลือตนเอง แม้กระทั่งให้เล่นเกมที่ต้องใช้ความคิดต่างๆ เพื่อให้สมองมีความคิดสร้างสรรค์ ดูแลให้มีการออกกำลังกาย 120 นาทีต่อสัปดาห์ ดูแลรักษาปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง รักษาให้เป็นปกติของวัย ต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หันมากินอาหารเพื่อสุขภาพ วิธีการเหล่านี้นอกจากจะช่วยฟื้นฟูร่างกายและสมองแล้ว ยังสามารถชะลอจุดเริ่มต้นของการเป็น “สมองเสื่อม” และ “โรคอัลไซเมอร์” ได้
ข้อมูลจาก
เขียนโดย รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์
สำนักพิมพ์อมรินทร์เฮลท์

บก.Horizon
อดีตคนทำนิตยสารธรรมะราย 15 วัน ที่ผันตัวเองมาทำหนังสือในฐานะบรรณาธิการ Amarin Health แบบจริงจัง ยิ่งทำยิ่งได้รู้ว่า “สุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวมากแค่ไหน” ถ้าไม่อยากป่วย ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากไปพบแพทย์บ่อยๆ และอยากสุขภาพดี เริ่มใส่ใจสุขภาพวันนี้ก็ยังทันนะเธอ ... โห รู้งี้ออกจากวัดมานานแล้ว