
ใครต่างๆ รู้ดีว่าถ้าอยากลดน้ำหนัก ต้องเลิกกินอาหารขยะ และหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น แล้วอาหารแบบไหนล่ะที่ช่วยให้ผอมลงได้จริง
ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อต่างมีผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนี้ให้เลือกมากมาย ในชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น อาหารคลีน, โลว์ซูการ์แคลอรี่ต่ำ หรือ 0% คอเรสเตอรอล หากดูผิวเผินอาจทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างดีไปหมด แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น
เรามาสแกนกันดีว่าของกินแบบไหน กินแล้วผอมได้จริง!
กินไข่เยอะทำให้คอเลสเตอรอลสูง จริงหรือไม่
เดิมเคยมีความเชื่อว่า “การกินไข่มากเกินไปไม่ดีต่อร่างกาย เพราะทำให้คอเลสเตอรอลสูง” ความจริงก็คือร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเองได้ ขณะที่ได้คอเลสเตอรอลจากอาหารมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากเราควบคุมปริมาณการกินให้เหมาะสม ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องคอเลสเตอรอลสูงแต่อย่างใด
ไข่ 1 ฟอง ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 6 กรัม ในแต่ละวันร่างกายต้องการโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั่นหมายความว่า การกินไข่วันละ 3 ฟอง จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆเลย
แต่การกินไข่ดิบตามสูตรนักเพาะกาย ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เนื่องจากในไข่ดิบมีสารต้านโภชนาการที่เรียกว่า อะวิติน (avidin) ซึ่งจะเข้าทำลายและขัดขวางการดูดซึมอาหารอื่นๆ แต่สารดังกล่าวจะสลายไปเมื่อถูกความร้อน ฉะนั้นควรกินไข่ปรุงสุกก่อน แล้วใช้วิธีปรุงสุกแบบไร้น้ำมันแทน
กินกราโนลาแทนมื้อหลัก แล้วผอมลงจริงหรือ
ภาพลักษณ์ของกราโนลาที่ทำให้สาวๆ รู้สึกว่าดีต่อสุขภาพ เพราะมีทั้งข้าวโอ๊ต ธัญพืชและผลไม้ กินแล้วคงได้รับสารอาหารครบถ้วน แถมอร่อยถูกปาก กราโนลาจึงกลายของว่างยอดนิยมสำหรับคนอยากลดน้ำหนัก
แต่ความจริง กราโนลาอาจไม่ดีอย่างที่คิด
- น้ำมันพืชที่ใช้เคล้ากับส่วนผสมก่อนนำไปอบ เพื่อป้องกันธัญพืชไหม้หรือติดถาด แม้จะบอกไม่ได้แน่ชัดว่าใช้น้ำมันอะไร แต่เป็นน้ำมันที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดซินแน่ๆ
- กราโนลาสำเร็จรูปมักเติมรสหวานลงไป เพื่อช่วยให้กินได้ง่ายขึ้น อาจใช้น้ำผึ้ง หรือไซรัปสำเร็จรูป ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเกินความจำเป็น
3.ผลไม้แห้งที่ใส่ในกราโนลา อาจทำให้รู้สึกว่ายังได้ประโยชน์จากผลไม้ แต่ความจริงแล้วผลไม้แห้งเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการโดยดึงของเหลวออกจากผลไม้ จนทำให้น้ำตาลธรรมชาติจับตัวเป็นก้อน จึงหวานมากขึ้น เคี้ยวแล้วอร่อยกว่าผลไม้สดๆ ซึ่งอาจทำให้เคี้ยวเพลินจนเผลอกินมากเกินไปได้ง่าย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกราโนลาไม่ได้ เพียงแต่ต้องระวังและสังเกตการณ์กินของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้มากเพราะกราโนลาที่ขายในท้องตลาดส่วนมากผ่านการปรุงแต่งรสชาติ จึงเหมาะเป็นขนมกินเล่นมากกว่ากินเป็นอาหารสำหรับลดความอ้วน
อย่าคิดว่าดื่มกรีนสมูทตี้ เท่ากับสุขภาพดี
กรีนสมูทตี้ กำลังเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมสำหรับคนอยากผอม เริ่มต้นด้วยชื่อเมนูที่ทำให้นึกถึงเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยผักใบเขียว จนรู้สึกว่าดื่มมากแค่ไหนก็คงไม่อ้วน ขับถ่ายดีขึ้น แถมคำว่า “สมูทตี้” ยังสร้างความรู้สึกชิวแอนด์ชิคอีกด้วย
แต่ความจริงแล้วภายใต้สีเขียวสดจากผักสด กลับแฝงด้วยส่วนผสมมากมายที่ใส่เพื่อปรับรสชาติให้ดื่มง่ายขึ้น เช่น กล้วยหอม แอ๊ปเปิ้ล นมถั่วเหลือง หรืออาจเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งน่ากังวลที่สุด เพราะมีความหวานที่มากเกินไป โดยเฉพาะกรณีที่ใส่ผักใบเขียว ซึ่งควรเป็นส่วนผสมหลักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ยิ่งแย่กว่านั้น หากเลือกดื่มน้ำผักใบเขียวพร้อมดื่ม ซึ่งไม่รู้ว่าใช้ส่วนผสมอะไรบ้าง หากไม่พิจารณาให้ดี คุณอาจดื่มแค่น้ำสีเขียวแทนที่จะได้คุณค่าจากผักจริงๆ
กรีนสมูทตี้จึงเป็นเพียงชื่อผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับ น้ำผลไม้ 100 % หรือ โยเกิร์ตไขมันต่ำ ซึ่งทำให้มุมมองต่ออาหารเพื่อสุขภาพผิดเพี้ยนไป ผู้บริโภคจำเป็นต้องแยกให้ออกระหว่าง “กรีนสมูทตี้” กับ “น้ำผักสีเขียวแต่งรสหวาน” ที่หน้าตาอาจคล้ายกัน ส่วนผสมอาจต่างกันโดยสิ้นเชิง
ฉะนั้นการตัดสินใจว่าสิ่งใดดีต่อสุขภาพ ไม่ควรดูที่ชื่อเรียก แต่ต้องพิจารณาส่วนผสมให้ถ่องแท้ด้วย เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เช่น คนที่มีภาวะตัวเย็นดื่มแล้วอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือดื่มแล้วแทนที่จะผอมกลับอ้วนขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
ทางเลือกที่ดีที่สุด คือการซื้อผักผลไม้สีเขียวมาปั่นด้วยตัวเอง แต่อาจดื่มยากสักหน่อย หากทนไม่ไหวจริง ก่อนเติมรสหวานให้จำไว้ว่า ควรให้หวาน “น้อยที่สุด” เท่าที่จะทำได้
นมถั่วเหลืองไม่ใช่อาหารสุขภาพหรืออาหารลดน้ำหนัก
มีผู้หญิงหลายคนดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำทุกวันเพื่อบำรุงสุขภาพและความงาม เพราะอ่านข้อมูลมาว่านมถั่วเหลืองมีแคลอรี่ต่ำกว่านมวัว และยังมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน จึงเชื่อกันว่าจะช่วยรักษาสมดุลสุขภาพ
แต่หากไม่รู้จักวิธีดื่มนมถั่วเหลืองที่เหมาะสม อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เช่น หญิงวัย 10-19 ปีบางคนไม่ควรดื่มนมถั่วเหลืองมากเกินไป เพราะหากร่างกายปรับตัวไม่ได้ อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง หรืออ้วนง่าย เป็นต้น ถั่วเหลืองจึงอาจดีสำหรับบางคน และไม่ดีสำหรับบางคน ฉะนั้นจึงควรบริโภคในปริมาณที่พอดี เพื่อไม่ให้ได้รับสารไอโซฟลาโวนมากเกินไป
คณะกรรมการกำกับดูแลความปลอดภัยของอาหารกำหนดปริมาณไอโซฟลาโวนสูงสุดที่ควรได้รับวันละ 70-75 มิลลิกรัม ฉะนั้นการดื่มนมถั่วเหลืองปริมาณ 200 มิลลิลิตร 1 กล่อง จะมีไอโซฟลาโวนประมาณ 40 มิลลิกรัม หากคุณเผลอดื่มถึง 2 กล่อง ก็จะเกินค่าที่กำหนดไว้
แม้การได้รับไอโซฟลาโวนจะไม่ได้ส่งผลเสียกับทุกคน แต่คนที่กินอาหารมังสวิรัติหรือชอบดื่มนมถั่วเหลืองทุกวัน คนที่ปัญหาต้นขาใหญ่ หรือทรมานจากอาการปวดประจำเดือนจะต้องระวังเป็นพิเศษ
ขนมปังคือเสบียงของคนอ้วน
สำหรับบางคนที่ชอบกินขนมปังเป็นอาหารเช้า หรือมื้ออาหารว่าง เพราะหาซื้อง่าย กินสะดวก จนกลายเป็นติดรสชาติของขนมปัง พอตัดสินใจลดความอ้วน ก็มักจะเกิดคำถามว่าจะกินขนมปังแบบไหนได้บ้าง
ชนิดของขนมปังที่พอจะกินช่วงไดเอตได้ ก็เห็นจะมีแต่ ขนมปังโฮลวีต และขนมปังไรย์ ที่เนื้อค่อนข้างหยาบกว่าขนมปังทั่วไป ถึงแม้จะหันมากินขนมปังทั้งสองชนิดนี้ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะผอมลง เพราะในส่วนผสมของขนมปังก็ยังมี เนยหรือมาร์การีน และไส้ต่างๆ จึงทำให้มีส่วนผสมของน้ำตาลสูงเกินไป
จึงไม่แนะนำให้กินขนมปังเป็นมื้อหลัก แม้บางคนอาจเถียงว่า กินเฉพาะแผ่นขนมปังเปล่าๆ แต่การใส่แป้งลงไปแค่พอให้อิ่มท้อง กลับทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ
ถ้าอดใจไม่ให้ ขอแนะนำให้แบ่งการกินระหว่างอาหารหลักกับขนมปังในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง แต่ถ้าอยากให้การลดน้ำหนักได้ผลดี ควรเริ่มจากเลิกกินขนมปังเป็นขนมว่างจะดีกว่า
กินเลือกซื้อ เลือกกินทุกครั้ง ควรรู้จักอาหารเหล่านั้นให้ถ่องแท้ก่อน เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของคำว่า “อาหารเพื่อสุขภาพ” แบบไม่รู้ตัวนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ กิน 100% ก็ผอมได้
สำนักพิมพ์ Amarin Health

แม่ปานเมืองนนท์
บรรณาธิการหัวฟูลุยทั้งงานนอกบ้าน พร้อมๆกับเป็น super mom ของหนุ่มน้อยวัย 5 ขวบ จึงต้องได้ทดลองใช้ ทดลองหลายอย่างด้วยตัวเองเพื่อหาสิ่งดีๆให้กับลูก ทั้งอาหารการกิน สุขภาพ หนังสือ และของเล่นสำหรับเด็ก